วันนี้ยังเป็นวันครบรอบที่ทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 5 ในฟุตบอลโลก 2002 และหากจะกล่าวถึงทัพเซเลเซาชุดนั้น คงไม่มีใครลืม 3 ประสานอย่าง โรนัลโด้, ริวัลโด้ กับ โรนัลดินโญ่ ในฉายา “3R” ได้อย่างแน่นอน
นี่คือตำนาน 3 ประสานที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก และนี่คือเรื่องราวการสร้างทีมบราซิลชุดนั้นโดยกุนซือ หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ ที่ถูกวิจารณ์มากมายว่าการพึ่งตัวรุกจากยุโรปแค่ 3 คนนี้ดีพอจะได้แชมป์โลกแน่หรือ?
ติดตามเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นจนถึงวันชูถ้วยแชมป์ ภายใต้การบุกแบบ “3 คนก็พอ ได้ที่นี่
บทเรียนจากฟุตบอลโลก 1998
ว่ากันว่า ความผิดหวังเมื่อครั้งอดีตคือ บทเรียน คำๆนี้ใช้ได้จริงกับทีมชาติบราซิลชุดฟุตบอลโลก 2002 เป็นอย่างยิ่ง เพราะ ณ เวลานั้น ทีมชาติบราซิลกำลังตกหลุมพรางในการใช้งาน โรนัลโด้ มากจนเกินไป พวกเขาให้หน้าที่มากมายกับกองหน้าที่เก่งที่สุดในโลก
และแม้ว่าผลที่ออกมานั้นจะยอดเยี่ยมตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มจนรอบรองชนะเลิศ ทว่าเมื่อมาถึงรอบชิงชนะเลิศ กองหน้าที่ดีที่สุดในโลก กลับไม่พร้อมจะลงเล่นแบบเต็ม 100% และนั่นเป็นปัญหาที่แฟนบอลบราซิลยังคงถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อย้อนกลับไปหลังจากพวกเขาแพ้ให้กับ ฝรั่งเศส 0-3 ประเด็นดังกล่าวร้อนแรงจนถึงขั้นเกิดทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมากมาย
อเล็กซ์ เบลลอส นักเขียนชาวบราซิล ที่เขียนหนังสือชื่อ วิถีชีวิตของชาวบราซิล ได้อธิบายสิ่งที่ชาวบราซิลคิดในวันนั้นไว้ว่า มีแนวคิดที่ถูกแบ่งออกมาถึง 5 รูปแบบ แม้ทุกวันนี้จะยังยืนยันไม่ได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง แต่ที่แน่ๆ 4 ใน 5 ทฤษฎีสมคบคิดของพวกเขานั้นล้วนพูดถึง โรนัลโด้ ทั้งสิ้น
ทฤษฎีแรกคือ โรนัลโด้ โดนวางยา เนื่องจากมีข่าวว่าก่อนเกมจะเริ่มโรนัลโด้มีอาการชักและท้องเสีย, ทฤษฎีที่ 2 คือ โรนัลโด้ ไม่สบาย และเขามีปัญหาสุขภาพที่ถูกซ่อนไว้เป็นความลับ โดยมีเพียงแพทย์เจ้าของอาการเท่านั้นที่รู้เรื่องนี้, ทฤษฎีที่ 3 แพทย์ให้ “ยาเม็ดสีฟ้า” ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการปวดกับ โรนัลโด้ มันทำให้เขาหายปวดท้องก็จริง แต่ผลข้างเคียงคือทำให้เขาง่วงซึมจนทำให้เขาไม่ตื่นตัวจนเล่นไม่ออกในเกมนัดชิงชนะเลิศกับฝรั่งเศส, ทฤษฎีที่ 4 ไนกี้ บังคับให้ทีมชาติบราซิลต้องส่ง โรนัลโด้ ลงสนามในนัดชิงเท่านั้น เพราะมีการตกลงกันไว้แบบเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร และทฤษฎีสุดท้ายคือ มีนักเตะบราซิลตัดสินใจ “ล้มบอล” ด้วยการขายแชมป์โลกแลกกับเงิน 15 ล้านปอนด์
ไม่ว่าจะทฤษฎีไหนก็มีเรื่องของ โรนัลโด้ มาเกี่ยวข้องทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นในอีกมุมว่า บราซิล ชุดฟุตบอลโลก 1998 พึ่งพาเกมรุกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้โรนัลโด้แบกเกมรุกของทีม ซึ่งหากใครที่ได้ดูการถ่ายทอดสดเกมนัดชิงชนะเลิศ และมองด้วยใจที่เป็นกลาง คุณจะสามารถเข้าใจได้ว่าเหตุผลหลักที่ บราซิล ที่เป็นแชมป์ 4 สมัย แพ้ให้ฝรั่งเศส ณ เวลานั้น คือเรื่องของแทคติกล้วนๆ
ฝรั่งเศส ชุดนั้นได้ให้บทเรียนสำคัญกับ บราซิล พวกเขาสร้างทีมโดยให้สิทธิ์กับกุนซือ เอเม่ ฌักเกต์ เข้ามาดูแลทีมตั้งแต่หลังปี 1994 ซึ่ง ณ เวลานั้น ทีมชาติฝรั่งเศสถูกสื่ออย่าง ESPN เรียกว่า “ทีมชุดวิกฤต” เพราะไม่ได้ไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกา ทั้งๆที่มีนักเตะอย่าง ดาวิด ชิโนลา, ฌอง ปิแอร์ ปาแปง และ เอริค คันโตนา
ฟิลิปป์ ตูร์นอง นักข่าวชาวฝรั่งเศสบรรยายถึงบรรยากาศในการสร้างทีมว่า “พวกเราอยากได้แชมป์ฟุตบอลโลกในบ้านตัวเอง เราจึงให้ตำแหน่งและอำนาจกับฌักเกต์เพื่อสร้างทีมของเขาขึ้นมา และเขาก็ทำงานอย่างหนักเพื่อหาทีมชุดที่ดีที่สุด แต่ผู้คนไม่เข้าใจ สื่ออย่าง เลกิ๊ป เป็นสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ในช่วงก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่ม ฌักเกต์ลองทีมด้วยนักเตะหลายคน จนฟอร์มอุ่นเครื่องไม่ดีเอาเสียเลย และพวกเขาเริ่มโจมตีถึงเป้าหมายแชมป์โลกที่ไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับทีมชุดนั้น”
แต่สิ่งที่สมาคมฟุตบอลฝรั่งเศสทำคือ พวกเขาให้โอกาสฌักเกต์อย่างเต็มที่ ไม่มีการล้วงลูก จนที่สุดแล้ว ฝรั่งเศสก็ได้สร้างทีมชุดที่แข็งแกร่งมากๆ โดยเฉพาะในส่วนของเกมรับที่นำโดยตัวท็อป ณ เวลานั้นอย่าง โลร็องต์ บล็องค์, มาร์กแซล เดอไซญี่, บิเซนเต้ ลิซาราซู และ ลิลิยอง ตูราม ประกอบกับแดนกลางที่เป็นมิดฟิลด์เชิงรับถึง 3 คนทั้ง ดิดิเยร์ เดส์ชองส์, คริสติยอง การอมเบอ และ เอ็มมานูเอล เปอตีต์ ก่อนวางกองหน้าธรรมชาติแค่คนเดียวคือ สเตฟาน กีวาร์ช ซึ่งเหมือนวางไว้เป็นตัวหลอก เพราะหัวใจในแนวรุกจริงๆอยู่ที่ ยูริ จอร์เกฟฟ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีเนดีน ซีดาน ต่างหาก
อย่างที่ทุกคนรู้กัน แค่นั้นก็เกินพอ ฝรั่งเศสเล่นด้วยความแน่นอนตลอดทัวร์นาเมนต์ เสียประตูแค่ 2 ลูก และมีนักเตะถึง 9 คนที่ยิงประตูได้ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น (มากที่สุดเหนือทุกทีม) สุดท้ายพวกเขาจบด้วยการเป็นแชมป์โลกสมัยแรกในประวัติศาสตร์
บราซิล เองก็ทำคล้ายๆกับที่ฝรั่งเศสทำ พวกเขาพยายามไม่สนกระแสกองเชียร์และให้เวลาโค้ชได้สร้างทีมของตัวเอง แต่ความต่างคือ พวกเขาจ้างสโคลารี่เข้ามาทำทีมก่อนฟุตบอลโลก 2002 เริ่มเพียง 1 ปีเท่านั้น
สโคลารี่ ได้รับดาบอาญาสิทธิ์ที่สามารถลองได้จนกว่าจะพอใจเพื่อเป้าหมายแชมป์โลกสมัยที่ 5 และเขาก็จัดให้ตามสั่ง สโคลารี่ใช้นักเตะทั้งหมดถึง 65 คน ก่อนจะประกาศรายชื่อ 23 คนสุดท้ายชุดปี 2002 เขาลองผิดลองถูกจนถึงขั้นที่ว่า พวกเขาแพ้ให้กับทีมรับเชิญอย่าง ฮอนดูรัส ในศึกโคปา อเมริกา รอบ 4 ทีมสุดท้ายมาแล้ว
สื่อบราซิลก็บอกว่า ณ ตอนนั้นทีมผลงานแย่มาก แต่ในทางกลับกันคือ บิ๊กฟิล ได้สร้างมิติใหม่ขึ้นมาบางอย่าง นั่นคือการแก้ไขปัญหาเรื่องความฟิตและแนวคิดทางการเล่นให้นักเตะในทีมช่วยกันวิ่งช่วยกันไล่ เพื่อกลบจุดอ่อนเดิมสมัยฟุตบอลโลกปี 1998 เนื่องจากเดิมที บราซิลเป็นทีมที่เน้นเรื่องความสามารถส่วนตัวมากกว่าระบบทีม นอกจากเรื่องของความฟิตแล้ว สิ่งที่บราซิลชุดนั้นทำได้อีกอย่างคือ การสร้างบรรยากาศในทีมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสื่อบราซิลถึงกับเรียกทีมชุดนั้นว่า “สโคลารี่ แฟมิลี่” เลยทีเดียว
เบื้องหลังของการลองเพื่อหาสูตรที่ลงตัวเกิดขึ้นจาก ณ เวลานั้น “บิ๊กฟิล” ตั้งใจจะปฏิวัติระบบการเล่นของบราซิลใหม่ เดิมทีบราซิลขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งระบบการเล่น 4-4-2 มาโดยตลอด แต่ในฟุตบอลโลก 2002 สโคลารี่ตั้งใจจะให้ทีมเล่นเกมรับกระชับแดนกลางให้มากขึ้นด้วยการปรับมาเล่นระบบ 3-5-2 ซึ่งหลังจากลองมาพักใหญ่ เขาก็ได้นักเตะในส่วนของแดนหลังกับแดนกลางแล้ว ขาดก็แต่เพียงแดนหน้าที่จะต้องหาความลงตัวให้ได้ เนื่องจากตอนนั้นกองหน้าเบอร์ 1 ของพวกเขาอย่าง โรนัลโด้ ได้รับบาดเจ็บตลอดแทบทั้งปีจนไม่ได้ลงสนามต่อเนื่อง บิ๊กฟิลต้องการตัวรุกถึง 2 คนยืนอยู่หลังโรนัลโด้เพื่อแบ่งเบาภาระให้ R9 มากที่สุด เรียกง่ายๆว่าใช้คนให้เป็น คนเก่งยิงประตูก็ให้ทำหน้าที่ยิงประตูเพียงอย่างเดียวก็พอ ซึ่งจุดนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของ 3 ประสานที่ดีที่สุดในโลก
ค้นพบเพอร์เฟ็กต์ทริโอ
บราซิลชุด “สโคลารี่ แฟมิลี่” มีนักเตะที่เล่นในลีกในประเทศของตัวเองถึง 13 คน โดยตัวรุกแบบที่เอ่ยชื่อแล้วทุกคนรู้จักนั้นมีน้อยมาก มี 3 คนเท่านั้นเป็นตัวชูโรงในแนวรุกนั่นคือ โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ ซึ่งนั่นเป็นส่วนผสมที่บิ๊กฟิลพยายามตามหามาตลอด 1 ปีเต็ม แม้ ณ วันประกาศชื่อจะมีคำครหาว่า จริงๆแล้วนักเตะเกมรุกคนอื่นๆ ควรเป็นพวกดาวยิงในลีกยุโรปอย่าง โจวานี เอลแบร์ ของ บาเยิร์น มิวนิค หรือแม้กระทั่ง มาริโอ ยาร์เดล มากกว่าตัวรุกจากลีกบราซิลที่ค่อนข้างโนเนมอย่าง ลุยเซา, เอดิลสัน และ ริคาร์โด้ กาก้า ในวัย 19 ปีก็ตาม แต่นั่นคือตัวเลือกที่บิ๊กฟิลบอกว่า “นี่แหละถูกต้องที่สุดแล้ว”
ขณะที่เกมรับ บิ๊กฟิล ขนมาเพียบ ทั้งนักเตะตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟและกองกลางเชิงรับ ซึ่งเขาก็อธิบายว่า 3-5-2 คือระบบที่ลงตัวที่สุดสำหรับทีมชุดนี้ จะมีนักเตะพลังไดนาโมคอยวิ่งไล่บอลเต็มทั้งสนามและช่วยให้ทีมมีสมดุลมากขึ้น
“ผมจำเป็นต้องสร้างทีม หาคาแร็กเตอร์ ผมเลือกกองหลัง 3 คนคือ ลูซิโอ, เอ็ดมิลสัน และ โรเก้ จูเนียร์ เหตุผลก็เพราะว่าผมจะปล่อยให้ คาฟู และ โรแบร์โต้ คาร์ลอส ได้เล่นเกมที่พวกเขาถนัดที่สุด”
“นี่แหละคือการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยเหตุผลรองรับที่สุดแล้ว เรามีประสบการณ์แล้วว่า ในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์นั้น อาจมีเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้มากมาย และวิธีการเล่นก็ต้องมีอะไรที่พิเศษกว่าปกติ ผมเลือกทุกคนผ่านการตัดสินใจร่วมกับทีมสตาฟฟ์โค้ช และท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนได้เห็นว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง” บิ๊กฟิล อธิบายถึงการเลือกนักเตะของเขา และนั่นหมายถึงการตอบคำถามในแดนหน้าด้วยว่าแค่ โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ แค่นี้ก็เอาอยู่แล้ว
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สโคลารี่ รอจนกว่า โรนัลโด้ จะพร้อมสำหรับทัวร์นาเมนต์จนนาทีสุดท้าย เขาอธิบายว่า โรนัลโด้คือคนที่ต้องมีอยู่ในทีม เป็นคนที่จะคอยจบสกอร์ชี้ขาดเกม โดยหน้าที่สร้างสรรค์เกมจะเป็นหน้าที่ของนักเตะ 2 ประเภท คนแรกคือนักฟุตบอลที่เยือกเย็นที่สุดและตัดสินใจได้เด็ดขาดที่สุดคนหนึ่ง แม้จะไม่ได้รวดเร็วปราดเปรียวมากแต่พึ่งพาได้ในจังหวะชี้เป็นชี้ตาย คนๆนั้นคือ ริวัลโด้ ตัวรุกจากบาร์เซโลน่า
“ริวัลโด้คือผู้นำในอีกแบบหนึ่ง เขาเป็นคนที่พูดน้อยมาก เขาไม่พูดแม้กระทั่งคำว่าอรุณสวัสดิ์ในตอนที่ตื่นนอน แต่ที่เขาเป็นคือคนที่เงียบ สงบนิ่ง เยือกเย็น และที่สุดก็คือ เขาเป็นนักเตะที่พึ่งพาได้” สโคลารี่ กล่าวถึงตัวเลือกหมายเลข 10 ของเขา
หาก ริวัลโด้ คือสัญลักษณ์ของความแน่นอนแล้ว เขายังต้องการอีกคนที่เขามารับบทบาทตัวรุกข้างหลัง โรนัลโด้ คนนี้จะต้องเป็นคนที่มีความฉูดฉาด คาดเดาไม่ได้ เร็วและหลักแหลมเปี่ยมไปด้วยทักษะ มีความสดใหม่แบบที่ใครก็เอาไม่อยู่ และแน่นอน คนๆนั้นคือ โรนัลดินโญ่ ตัวรุกดาวรุ่งจาก ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ที่ ณ เวลานั้นอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น
หน้าที่ของ โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ นั้นชัดเจนเป็นอย่างมาก นั่นคือพวกเขาทั้ง 3 แทบจะรับเหมาเกมรุกและแบ่งความสำคัญเท่าๆกัน ตัวของ โรนัลโด้ จะยืนอยู่เป็นกองหน้าตัวเป้า ขณะที่ ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ จะคอยเคลื่อนที่อย่างอิสระ โดยมีนักเตะอีก 6 คนคอยแย่งบอลมาให้พวกเขา
บิ๊กฟิล กลบจุดอ่อนของทีมชุดปี 1998 ที่มีนักเตะพยายามเล่นเกมรุกมากเกินไปด้วยการลดจำนวนนักเตะเกมรุกลงแต่ว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีมดงานพยายามตัดบอลและเอามาให้เหล่าตัวรุกที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพได้ขับเคลื่อน สลับตำแหน่ง และเล่นในแบบที่พวกเขาอยากจะเล่นโดยไม่กระทบกับสมดุลของทีม และไม่เสียเหลี่ยมให้กับทีมที่เน้นตั้งรับแล้วสวนกลับ ซึ่งเป็นแทคติกที่ทีมที่เล็กกว่าใช้น็อกบราซิลอยู่บ่อยๆ
3R – 9, 10 และ 11
ไม่ต้องบรรยายอะไรกันเยอะ 3R คือพระเอกของงานฟุตบอลโลก 2002 เลยก็ว่าได้ แม้จะเล่นเกมรุกกันแบบ 3 คนถ้วนโดยหลักๆ แต่พวกเขากลับมีทีมเวิร์กที่เหลือเชื่อ ความเข้าใจเกมและหน้าที่ของแต่ละคนสูงมาก แม้จะมีทักษะเชิงบอลระดับเหนือชั้นและสามารถเล่นแบบโซโล่เพลย์ได้ทั้งหมดก็ตาม
ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ ได้แสดงจุดแข็งที่สุดของตัวเองออกมาให้โลกได้เห็นผ่านทุกๆเกมที่บราซิลลงสนาม ซึ่งปลายทางคือพวกเขาเป็นแชมป์โลก ด้วยสถิติชนะรวดทั้งหมด 8 เกม โดย โรนัลโด้ ยิง 8 ลูก คว้าดาวซัลโว, ริวัลโด้ ยิงไป 5 ลูก และ โรนัลดินโญ่ ยิงไป 2 ลูก
โรนัลโด้ ในทรงผม “ไดโกโระ” ที่ตัดมาเพื่อให้สื่อกับแฟนบอลถาม เพื่อเบนโฟกัสจากอาการบาดเจ็บที่กัดกินเขามาร่วมปีโดยเฉพาะ ก็ระเบิดฟอร์มได้ดีที่สุดหลังจากผ่าตัดเข่าครั้งใหญ่
8 ประตู เป็นประตูที่เกิดขึ้นจากการแทปอินหรือยิงในกรอบ 6 หลาถึง 6 ลูก นั่นแสดงให้เห็นว่า โรนัลโด้เวอร์ชั่นฟุตบอลโลก 2002 ไม่จำเป็นต้องลากบอลไกล วิ่งดวล 1-1 กับแนวรับคู่แข่งให้เสี่ยงเจ็บตัวเลยด้วยซ้ำ เขาแค่ใช้สัญชาตญาณกองหน้าอ่านจังหวะและรอยิงลูกประเภทลูกซ้อมก็พอ ไม่ต้องหวือหวามหัศจรรย์แต่ได้ประตู นั่นคือโรนัลโด้ในแบบที่ “บิ๊กฟิล” วางหมากมาเพื่อให้ตอบโจทย์กับร่างกายของเขาที่สุด
ขณะที่ ริวัลโด้ เป็นเหมือนพี่ใหญ่ของ 3R เยือกเย็น แน่นอน และใช้ลูกเก๋าได้ยอดเยี่ยมตามที่บิ๊กฟิลได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ เขาแสดงให้เห็นผ่านการเล่นละครตบตาจนเรียกใบแดงให้คู่แข่งได้ในเกมรอบแรกที่พบกับตุรกี ก่อนจะรับบทมือยิงจุดโทษในนาทีที่ 87 ของเกมนั้น และส่งให้ บราซิล ชนะในเกมเปิดหัว 2-1 นอกจากนี้ ริวัลโด้ยังเป็นคนที่รับหน้าที่สลับตำแหน่งกับโรนัลโด้ในตอนที่ R9 ขยับออกไปนอกเขตโทษ ริวัลโด้ก็จะขยับขึ้นมาเป็นศูนย์หน้าแทน และมีถึง 3 จาก 5 ลูกในทัวร์นาเมนต์นี้ของเขาที่เกิดขึ้นจากการแทปอินและการทะลุเข้าไปรับบอลและยิงในกรอบเขตโทษ
ด้าน โรนัลดินโญ่ น้องใหม่ ณ เวลานั้นคือนักเตะประเภท “ตัวฉาย” ของแท้ เพราะเป็นคนที่ได้เลี้ยงบอลและมีอิสระมากที่สุด ที่สามารถขยับไปทุกที่ในแดนของคู่ต่อสู้โดยไม่มีตำแหน่งตายตัว จุดแข็งของโรนัลดินโญ่ที่คนทั้งโลกได้เห็นพร้อมกันตอนนั้นคือ การครองบอลที่คล่องแคล่วว่องไหวและเหนียวแน่นในเวลาเดียวกัน เหนือสิ่งอื่นใดคือ เขาเป็นคนที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะทำอะไรต่อไป บอลจากเท้าของโรนัลดินโญ่เรียกเสียงฮือฮาได้เสมอ และลูกยิงฟรีคิกลักไก่แต่ตั้งใจยิงระยะร่วมๆ 50 หลาในเกมกับทีมชาติอังกฤษในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก็คือตัวยืนยันถึงความมหัศจรรย์ของโรนัลดินโญ่ในทัวร์นาเมนต์นั้นได้เป็นอย่างดี
บทสรุปของฟุตบอลโลกครั้งแรกและครั้งเดียวของแก๊ง 3R เป็นเอกฉันท์ ทั่วโลกได้เข้าใจว่าพวกเขาเป็นทริโอที่ไม่มีใครและไม่มีทางจับอยู่ แม้กระทั่งในนัดชิงกับเยอรมัน บราซิลยังมีการเข้าทำที่หลากหลาย 2 ประตูจาก โรนัลโด้ ในเกมนั้นเกิดขึ้นจากการสร้างจังหวะของ ริวัลโด้ ทั้งสิ้น ลูกแรก ริวัลโด้ ยิงไกลและ โรนัลโด้ เข้าไปซ้ำจ่อๆ ขณะที่ลูกที่สองเกิดจากการวิ่งข้ามบอลง่ายๆของ ริวัลโด้ ที่ทำให้ โรนัลโด้ มีพื้นที่ได้ยิงเดี่ยวๆ จนเป็นประตูตอกฝาโลงในท้ายที่สุด
นับตั้งแต่วันนั้น ไม่มีทริโอชุดไหนที่ทรงประสิทธิภาพชนิดที่ว่า ขอแค่บุกกัน 3 คนก็พอ ได้แบบที่บราซิลทำได้ในฟุตบอลโลก 2002 อีกแล้ว แม้เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี แต่หากคุณย้อนไปดูความยอดเยี่ยมของบราซิลที่นำโดย 3R ชุดนั้น รับรองว่า คุณไม่มีทางปฏิเสธความยอดเยี่ยมของทั้ง โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ ได้อย่างแน่นอน